เมืองปายแต่เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือเป็นเมืองเก่าแก่มาช้านาน ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1800 ตามประวัติความเป็นมาของอาณาจักรล้านนาเรียกอำเภอปายว่า "บ้านดอน" ทั้งนี้เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่บนดอนมีป่าไม้ไฝ่ล้อมรอบ มีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำปายและแม่น้ำเมือง ไหลผ่านทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตก รอบบ้านดอนเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งทัพ และปลูกข้าวเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพและผู้คนได้เป็นจำนวนมาก พ.ศ. 1857 ตรงกับจุลศักราช 679 ทางพิงค์นครเชียงใหม่ ซึ่งมีพระเจ้าครามณีเป็นผู้ครองนครอยู่ ได้ทราบว่ามีชาวพม่าชื่อ พะกำซอ ยกทัพมาตั้งอยู่ที่บ้านดอนก็เกิดความสนใจ ต่อมาเกิดการจราจลที่เมืองแสนหวี เมืองนาย เมืองลายคำ เมืองหมอกใหม่ ในรัฐไทยใหญ่ ประเทศสหภาพพม่า พะกำซอยกทัพกลับไปปราบจราจลจนสงบและย้อนกลับมาอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 1860 พะกำซอได้สร้างบ้านดอนเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น มีการขุดคูเมืองรอบด้านทุกด้าน ดินที่ขุดขึ้นมาได้ถมเป็นคันดินสูง สร้างประตูเมือง 2 ประตู ทางทิศใต้และทางทิศตะวันออก จนบ้านดอนเป็นเมืองที่แข็งแรงยากที่ศัตรูจะมาตีเมืองนี้ได้
พ.ศ. 1865 เจ้าครามณีผู้ครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นอายุได้ 55 พรรษา ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่พะกำซอ สร้างบ้านดอน พระองค์จึงดำริจะยึดเอาเป็นเมืองขึ้น จึงได้ส่งกองลาดตระเวนมาสอดส่องดูว่าพอจะยกกองทัพมายึดเอาได้หรือไม่ ถ้าได้จะยกทัพมา แต่พระองค์สวรรคตเสียก่อน
ในปี พ.ศ. 1871 ถึง ปี พ.ศ.1890 พระเจ้าเสนาะภูติ โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าครามณี ซึ่งครองเมืองเชียงแสนอยู่ได้ส่งเจ้ามหาชัยยกทัพมายึดเอาบ้านดอน สมัยนั้นการเดินทางยากลำบากต้องผ่านป่าทึบและภูเขาสูงสลับซับซ้อน รวมทั้งต้องผจญกับไข้ป่า การเดินทัพของเจ้ามหาชัยได้นำช้างไป 3 เชือก เดินทางรอนแรมขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ จนถึงที่แห่งหนึ่งเหมาะสมแก่การพักทัพจึงหยุดพักแรม ในคืนนั้นเองเจ้ามหาชัยก็หลับและฝันเห็นข้าศึกมาล้อมพระองค์และจับช้างของพระองค์ไปด้วย ครั้นรุ่งเช้าพระองค์ก็ทรงเล่าความฝันให้เหล่าเสนาอำมาตย์ฟังทุกคนต่างไม่สบายใจ คอยระมัดระวังภัยตลอดเวลา ต่อมาช้างเผือกเชือกหนึ่งก็ตายลงโดยมิทราบสาเหตุ พระองค์จึงสั่งให้เผาและเอากระดูกช้างนั้นไปฝังไว้ใกล้ที่พักแรมแห่งนั้น ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า "บวกหัวช้าง" อยู่บนเส้นทางสาย ปาย-เชียงใหม่ เจ้ามหาชัยได้ยกทัพกลับเมืองเชียงใหม่และสวรรคตในปี พ.ศ. 1978 ฝ่ายพะกำซอปลูกสร้างเมืองสำเร็จเป็นปึกแผ่นก็มีผู้คนอพยพมาอยู่อีกมากมาย เพื่อความปลอดภัยจึงต้องมีการขุดคูเมืองโดยรอบลึกลงไปอีก และในปี พ.ศ.1980 ได้เดินทางกลับพม่าโดยให้บุตรชายชื่อ พะกำกันนะ อยู่ดูแลบ้านดอนแทน
เขียนโดย นายณัฐวุฒิ อารีรมย์
วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น